พิธีลิมลตายาย : พิธีกรรมนอกตำราจากศาสตร์การเยียวยากายและจิต

หน้าแรก ย้อนกลับ พิธีลิมลตายาย : พิธีกรรมนอกตำราจากศาสตร์การเยียวยากายและจิต

พิธีลิมลตายาย : พิธีกรรมนอกตำราจากศาสตร์การเยียวยากายและจิต

พิธีลิมลตายาย : พิธีกรรมนอกตำราจากศาสตร์การเยียวยากายและจิต

          กลิ่นกำยานและหมากพลูอันเป็นของเซ่นไหว้ลอยเข้าปะทะจมูก พร้อม ๆ กับเสียงเห่และกลองทับที่โหมโรงขึ้นเชื้อเชิญสายตาให้หันไปสนใจ “พิธีลิมลตายาย จากคณะลิมลทับใหญ่ นายประพันธ์ พุฒยอด ในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี” มนต์คาถาจากตายายบรรพบุรุษที่คอยตักเตือนและคุ้มครองลูกหลานมานานกว่า 200 ปี โดยมีแก่นความรักใคร่กลมเกลียวของคนในครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพิธีกรรม

          พิธีลิมลตายายคืออะไร?

    

ภาพขณะทำพิธีลิมล โดย คณะลิมลทับใหญ่ นายประพันธ์ พุฒยอด
ณ บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 2 ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ในวันที่ 7 มีนาคม 2567

          พิธีลิมลตายาย เป็นพิธีกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่ผสมผสานระหว่างดนตรี การท่องบทสวดมนต์ และการรักษาโรค โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น โต๊ะครึม นายมนต์ หรือตายายนายมนตร์ ตามที่ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์ (2548, น. 243-244) กล่าวเอาไว้ว่า นายมนต์เป็นการแสดงเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายอัปมงคลที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย หรือเสียสติ ซึ่งคนสมัยก่อนเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยเหล่านี้เกิดจากการทำโทษของตายายผีบรรพบุรุษซึ่งเกิดความไม่พอใจที่ลูกหลานไปทำสิ่งผิดธรรมเนียมประเพณี ผีตายายจึงมาลงโทษเพื่อเป็นการตักเตือน ความเจ็บป่วยนี้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นให้หายขาดได้ จำต้องรักษาด้วยการนำนายมนต์ผู้มีวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์มาทำพิธีเพื่อเป็นการบูชาครูหมอตายายเท่านั้น นอกจากนี้ยังนิยมทำพิธีในเดือน 6, 7, 9 และ 11 เป็นจำนวน 2 คืน 3 วัน

          พิธีลิมลตายาย จากคณะลิมลทับใหญ่ นายประพันธ์ พุฒยอด ในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี คือต้นกำเนิดของพิธีกรรมดังกล่าว และมีชื่อเสียงทั้งในจังหวัดปัตตานีรวมไปถึงเขตพื้นที่ใกล้เคียงมาหลายชั่วอายุคน โดยมีนายประพันธ์ พุฒยอด เป็นหัวหน้าคณะลิมลรุ่นที่ 4 ซึ่งยังคงสืบทอดพิธีกรรมอันเก่าแก่นี้เอาไว้ และได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า พิธีลิมลทับใหญ่มีการสืบทอดมายาวนาน ตั้งแต่รุ่นพ่อ พี่ชาย มาจนถึงตนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้บนและรักษาอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนมากมักเป็นอาการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยไม่สามารถเดินเองได้ ทั้งนี้การรักษาไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่น ๆ อาทิ ศาสนาอิสลามเข้ามารับการรักษาเช่นกัน หากแต่ในกระบวนพิธีจำต้องให้มะตือรี หรือมะโย่งซึ่งเป็นศาสตร์แขนงเดียวกันเป็นผู้แก้ให้เท่านั้น

          ตำนานอันเป็นแก่นแท้ของพิธีลิมล

ภาพทับ 4 ลูก ตำรา มีด เสื่อ และเครื่องประกอบพิธีอื่น ๆ

          พิธีลิมลมีความเชื่อและตำนานอันถือเป็นแก่นสำคัญของพิธีกรรมหลากหลายสำนวน หากแต่ละสำนวนกลับไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ตามที่ ประสิทธิ์ รัตนมณีและชยพล พุฒยอด (2555, หน้า 32) กล่าวเอาไว้ว่า ตำนานพิธีลิมลมีหลายสำนวน แต่ตำนานที่ถูกบรรจุอยู่ในบทขับร้องมี 2 สำนวน โดยมีเนื้อหาคือ ท้าวสามนซึ่งเป็นกษัตริย์เมืองปาลิไลยมีลูกชายชื่อว่าสีทอง (ตาหลวงสีทอง) ส่วนเมืองของท้าวโกสีระวิชัยมีลูกสาว 7 คน คนสุดท้องชื่อว่านางสีพุดทอง ไม่ยอมพูดคุยกับใครและเกลียดผู้ชายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเรื่องไปถึงหูพระอิศวรพระองค์จึงใช้ขี้ไคลสร้างเป็นเทวดามาสิงนางสีพุดทองขณะที่นางมาเดินชมป่าทำให้เกิดอาการคุ้มคลั่ง ประจวบเหมาะกับตาหลวงสีทองลากม้าเข้ามาในป่าและกำลังขับร้องกลอนประวัติของตนเองให้แก่ชาวบ้านที่นำอาหารมาให้ระหว่างทางเมื่อนางสีพุดทองได้ยินเข้าก็ชอบใจจนขับร้องโต้ตอบกัน พี่เลี้ยงจึงนำความไปกราบทูลแก่ท้าวโกสีระวิชัยจนพระองค์เชิญตาหลวงสีทองเข้ามารักษา แต่ตาหลวงสีทองไม่มีความสามารถที่จะรักษาจึงขอเข้าป่าไป 2 วันก่อนจะขอร้องให้เทวดาช่วยเหลือ กระทั่งรู้ถึงหูพระอินทร์ พระองค์จึงสั่งให้พระวิษณุนำลูกโพทอง 5 ลูกมาชุบเป็นทับ ชื่อว่า นครผูก นครสวรรค์ น้ำตาตก นกเขาขัน และการ้องฆ้องชัย หลังจากนั้นจึงรักษานางสีพุดทองจนหายเป็นปกติ กระทั่งท้าวโกสีระวิชัยมาทราบในภายหลังว่าแท้จริงแล้วตาหลวงสีทองเป็นหลานชายของตนและท้าวสามนคือพี่ชายของตนเองที่ไม่ได้พบเจอกันมานานแล้ว

      

เชี่ยนพลู ขันหมาก ดอกไม้ และเงิน
เครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ข้าวตอก ไก่ต้ม อาหารคาว ขนมโค บัวลอย ข้าวเหนียวเหลือง ผลไม้ และเหล้า

          ดังนั้นตำนานของพิธีลิมลจึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความกลมเกลียวภายในครอบครัวที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนผ่านพ้นเรื่องราวเลวร้ายมาได้ แก่นสำคัญของพิธีกรรมลิมลจึงเป็นการนำพาญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลกันกลับมาพบปะพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อสร้างความรักใคร่สามัคคีให้เกิดขึ้นในครอบครัว โดยมีการไหว้ตายายบรรพบุรุษซึ่งใช้เครื่องเซ่นไหว้และดนตรีในการเชื่อมโยงลูกหลานและบรรพบุรุษเข้าไว้ด้วยกัน

          ความเป็นไปและการดำรงอยู่ของพิธีลิมลในปัจจุบัน

ครูประพันธ์ พุฒยอด หัวหน้าคณะลิมลทับใหญ่ นายประพันธ์ พุฒยอด (รุ่นที่ 4)

          พิธีลิมลเป็นพิธีที่สืบทอดในเครือญาติหรือสายเลือดเดียวกัน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความคิดและภาระหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงต้องหาผู้สืบทอดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเครือญาติเดียวกันเสมอไป ทว่าสำหรับคณะลิมนต์ทับใหญ่แล้วนายประพันธ์กล่าวว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะความศรัทธาต่อบรรพบุรุษของพวกเขาไม่เคยเสื่อมคลายลงไป ในแต่ละวันยังคงมีคนเจ็บป่วยเดินทางมารักษามากมาย รวมไปถึงลูกหลานในฐานะผู้สืบทอดพิธีลิมลที่ไม่เคยละทิ้งเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ พวกเขาทั้งหมดยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมเหล่านี้ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง และดำเนินควบคู่ไปกับอาชีพซึ่งเป็นหน้าที่ของตน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าแม้พิธีลิมลจะเป็นพิธีโบราณซึ่งสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่ความศรัทธาของลูกหลาน รวมไปถึงผู้ที่ศรัทธาทั้งในละแวกและพื้นที่ใกล้เคียงกลับไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย ตามที่ ประสิทธิ์ รัตนมณีและชยพล พุฒยอด (2552, น. 34) กล่าวเอาไว้ว่า ในสายตาของลูกหลาน พวกเขามองสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ในแง่ของการดำเนินชีวิตภายในครอบครัว ความสามัคคีปรองดองระหว่างลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่กับตายายบรรพบุรุษประจำตระกูล และพวกเขาภาคภูมิใจต่อสายเลือดบรรพบุรุษของตนเองเป็นอย่างยิ่ง

          แม้ว่าพิธีกรรมลิมลจะมีขึ้นเพื่อแก้บนหรือรักษาอาการเจ็บป่วย ทว่าพิธีกรรมดังกล่าวกลับสะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของลูกหลาน ในทุกปีจะมีการรวมตัวญาติพี่น้องเพื่อกราบไหว้บูชาและระลึกถึงบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวอยู่เสมอ สิ่งนี้ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่เครือญาติและเกิดความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พิธีลิมลจึงไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมที่ช่วยเหลือผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยในด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนเชื่อมโยงพวกเขาไม่ให้แตกแยกจากความเป็นครอบครัว ทั้งยังสร้างเสริมกำลังใจให้แก่ลูกหลานลิมลว่ายังมีตายายบรรพบุรุษช่วยเหลือและคุ้มครองพวกเขาด้วยความรักใคร่ไม่เปลี่ยนแปลง

คณะอาจารย์และคณะทำงานร่วมถ่ายภาพกับคณะลิมลทับใหญ่ นายประพันธ์ พุฒยอด

ณ วันที่ 7 มีนาคม 2567

 

ประสิทธิ์ รัตนมณีและนายชยพลพุฒยอด. (2555). รายงานการวิจัยเรื่องพิธีกรรมลิมนต์ นายนิพนธ์ พุฒยอด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี. ปัตตานี: สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

ประสิทธิ์ รัตนมณี. (2562). การสืบทอดพิธีกรรมการเล่นลิมนต์ ในจังหวัดปัตตานี: พลวัตตามสภาวการณ์ปัจจุบัน. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 11(2), 154-177. สืบค้นจาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-la/article/view/232760

แชร์ 89 ผู้ชม

คติความเชื่อ

องค์ความรู้